ปลากราย (Chitala ornata,Haminton) เป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
ประชาชนชอบบริโภคเนื่องจากเนื้อปลากรายมีรสชาติดีสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด
เช่น ทอดมันปลากราย ลูกชิ้นปลากราย เชิงปลากรายทอดกระเทียม
เป็นต้น ทำให้ราคาจำหน่ายปลากรายในท้องตลาดค่อนข้างมีราคาแพงประมาณกิโลกรัมละ
70-80 บาท ส่วนเนื้อปลาขูดราคากิโลกรัมละ 220 บาท อีกทั้งปลากรายขนาดเล็กมีลักษณะสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงามทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ปลากรายที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีปริมาณลดลงทุกปี
กรมประมงจึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรีดำเนินการศึกษาค้นคว้าและเร่งเพาะขยายพันธุ์เพื่อฟื้นฟูพันธุ์ปลาและส่งเสริมเป็นอาชีพต่อไป
ชีวประวัติ
ปลากรายเป็นปลาน้ำจืดที่พบมากในประเทศไทย อินโดนีเซีย
อินเดีย มาเลเซียและพม่า ในประเทศไทยพบอาศัยในแม่น้ำลำคลอง
หนองและบึงทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป
เช่น ภาคเหนือเรียกว่าปลาหางแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกปลาตองกราย
เป็นต้น ปลากรายเป็นปลาประเภทกินเนื้อ อาหารของปลากรายตามธรรมชาติได้แก่
ตัวอ่อนของแมลง กุ้ง ลูกปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่น ๆ
ปลากรายมีลักษณะลำตัวยาวบาง แบนข้าง ส่วนหัวมีขนาดเล็ก
เว้าเป็นสันโค้งและแยกออกจากลำตัวเห็นชัดเจน เหนือครีบก้นจะมีจุดสีดำค่อนข้างใหญ่
ประมาณ 5 – 10 จุดเรียงเป็นแถว สีของลำตัวเป็นสีขาวเงิน
ส่วนหลังมีสีคล้ำกว่าส่วนท้อง ขนาดของปลากราย ที่พบส่วนใหญ่ยาวประมาณ
70–75 เซนติเมตร ส่วนลูกปลาที่มีขนาดไม่เกิน 9 เซนติเมตร
จะมีลายสีเทาดำ ประมาณ 10–15 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่ออายุประมาณ
80 วัน ลายจะเลือนหายไปและกลายเป็นจุดสีดำแทน เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด
ครีบต่างๆ ทุกครีบเป็นก้านครีบอ่อนทั้งหมด ครีบท้องเล็กมาก
ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันรวมเป็นครีบเดียวกัน มีก้านครีบประมาณ
110-135 อัน ครีบหลังเล็ก มีก้านครีบ 8-9 อัน ตั้งอยู่กึ่งกลางหลังลักษณะคล้ายขนนกเสียบอยู่
ครีบอก มีก้านครีบ 15-16 อัน ครีบท้อง มีก้านครีบ 6 อัน
บริเวณสันท้องมีหนามคล้ายฟันเลื่อย 2 แถว จำนวนประมาณ
37-45 คู่ ลักษณะภายนอกของปลากรายเพศผู้และเพศเมียที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ได้แก่ ความยาวของครีบเอว โดยที่ปลาเพศผู้จะมีครีบเอวยาวกว่าปลาเพศเมีย
ฤดูวางไข่ของปลากรายอยู่ในช่วงเดือน
มีนาคม – ตุลาคม ของทุกปี โดยรังไข่เพียงข้างเดียวของเพศเมีย(ที่มีอยู่สองข้าง)จะมีการพัฒนาเพื่อสร้างไข่ในหนึ่งฤดู
รังไข่ทั้งสองข้างจะสลับกันสร้างไข่จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ปลาจะเริ่มจับคู่กันและปลาเพศผู้จะทำการขุดดินรอบ
ๆ วัสดุที่จะทำการวางไข่ให้เป็นหลุม จากนั้นปลาเพศเมียจะวางไข่
ซึ่งจะติดกับวัสดุ เป็นต้นว่า ตอไม้ รากไม้ ท่อปูน ฯลฯ
ปลาเพศผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่โดยใช้หางโบกไปมาพัดเพื่อให้ออกซิเจนและป้องกันไม่ให้ตะกอนเกาะติดไข่
ไข่ปลากรายที่ได้รับการผสมจะมีสีเหลืองอ่อนใส มีเส้นผ่าศูนย์กลาง
3.0 มิลลิเมตร และฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 6 – 7 วัน ที่อุณหภูมิน้ำ
26-32 องศาเซลเซียส แม่ปลามีความสามารถวางไข่ได้เฉลี่ยปีละ
6.0 ครั้ง พบแม่ปลาวางไข่สูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
จำนวนไข่เฉลี่ยครั้งละ 1,044 ฟอง อัตราการปฏิสนธิประมาณ
75% อัตราการฟักเป็นตัว 70% อัตราการรอดตาย 92% เหลือลูกปลาวัยอ่อนอายุ
5 วันเฉลี่ย 514 ตัว คิดเป็น 3,084 ตัว/แม่/ปี
การเพาะพันธุ์ปลากราย
การเพาะพันธุ์ปลากรายสามารถทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นก็สามารถวางไข่ได้เองในบ่อดิน
โดยไข่จะติดกับวัสดุที่เตรียมไว้ สรุปขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลากรายของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรี
ดังต่อไปนี้
1.
บ่อเพาะพันธุ์ บ่อเพาะพันธุ์ควรเป็นบ่อดินขนาด
0.5 ไร่ พื้นบ่อควรเป็นดินเหนียวไม่ควรเป็นโคลนตม ระดับน้ำประมาณ
1.00 – 1.50 เมตร
2. การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลากราย ทำการคัดเลือกพ่อแม่ปลากรายที่มีอายุถึงวัยเจริญพันธุ์
(อายุ 2 ปี ขึ้นไป)ปล่อยลงในบ่อเพาะพันธุ์ในอัตรา 36 คู่
ต่อบ่อขนาด 0.5 ไร่
3. วัสดุสำหรับให้ปลากรายวางไข่ หลังจากทำการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลากรายลงในบ่อเพาะพันธุ์แล้ว
ต้องนำวัสดุไปวางไว้สำหรับให้ปลากรายมาวางไข่ โดยวัสดุที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรี
ใช้ได้แก่ กระถางดินเผา ขนาดสูง 24 เซนติเมตร ปากกว้าง
20 เซนติเมตร การนำกระถางดินเผาไปวางให้ปลากรายวางไข่
ควรวางกระจายให้ทั่วบ่อ เว้นระยะให้เท่ากัน โดยวางกระถางคว่ำที่พื้นบ่อ
ทุกจุดที่วางวัสดุสำหรับให้ปลาวางไข่ต้องทำสัญลักษณ์บอกตำแหน่ง
เช่น ใช้เชือกผูกและปลายเชือกอีกข้างหนึ่งมัดไว้กับทุ่นลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ
หรือ ใช้ไม้ไผ่ปัก
4. อาหารและการให้อาหาร การให้อาหารปลาในบ่อเพาะพันธุ์
จะใช้ปลาเป็ด 90 % และ รำละเอียด 10 % บดรวมกันแล้วปั้นเป็นก้อน
ให้วันละ 1 มื้อ ประมาณ 3% ของน้ำหนักตัว (หรือใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปโปรตีน
37 %)
5. การตรวจสอบการวางไข่ของปลากราย หลังจากนำวัสดุสำหรับให้ปลาวางไข่ไปวางที่บ่อเพาะพันธุ์เรียบร้อยแล้ว
ต้องหมั่นตรวจสอบการวางไข่ของปลากรายทุกสัปดาห์ ๆ ละ 2
ครั้ง โดยการยกกระถางดินเผาขึ้นดู ถ้าไม่พบให้ทำความสะอาดกระถางแล้ววางไว้ที่เดิม
ส่วนรังไข่ที่รวบรวมเพื่อนำขึ้นมาฟักนั้นให้นำกระถางใบใหม่วางลงทดแทนที่เดิม
ทำการลำเลียงไข่ของปลากรายโดยให้รังไข่แช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา
และนำไปยังโรงเพาะฟักเพื่อทำการฟักไข่ต่อไป
6. การฟักไข่ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
6.1 ทำการล้างดินที่ติดมากับกระถางดินเผาออกให้หมด
6.2นำไข่ปลากรายไปฟักในกะละมังพลาสติก กล่องโฟม หรือภาชนะอื่นใด
เติมสารป้องกันเชื้อรา ให้อากาศตลอดเวลา ในเวลาประมาณ
6–7 วัน ลูกปลากรายจะฟักออกเป็นตัว ขณะนี้ลูกปลายังเกาะติดกับกระถางและจะหลุดจากกระถางภายในเวลา
2 วัน ลูกปลามีนิสัยชอบรวมกลุ่มหลบซ่อนอยู่ใต้กระถาง หลังจากลูกปลาหลุดออกจากกระถางหมดแล้ว
จึงรวบรวมนำไปอนุบาลต่อไป
6.3 ลูกปลากรายที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ ๆ จะมีถุงไข่แดง (yolk
sac) ติดอยู่กับหน้าท้อง ลูกปลาจะใช้สารอาหารจากถุงไข่แดงเพื่อเลี้ยงตัวเอง
เมื่อถุงไข่แดงยุบหมดแล้วซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 วัน ปากของลูกปลาจะเปิดและจะเริ่มกินอาหาร
สังเกตได้จากลูกปลาว่ายสู่ผิวน้ำ จึงเริ่มให้อาหาร อาหารที่ใช้
คือ ไรแดง
7. การอนุบาลลูกปลากราย
ลูกปลากรายอายุ 5 วันมีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ระยะนี้ให้ไรแดงเป็นอาหาร
2-3 มื้อ/วัน เมื่อลูกปลาอายุ 45 วัน ได้ลูกปลาขนาด 5
เซนติเมตร เริ่มฝึกให้กินอาหารเม็ดลอยน้ำขนาดเล็กสลับกับการให้ไรแดง
ลูกปลาขนาดเล็กจะมีลายพาดขวางตามแนวตัว
ที่อายุ 80วัน ขนาด 10 เซนติเมตร จึงเห็นเป็นจุดตามแนวตัว
การเลี้ยงปลากราย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรี ได้มีการทดลองเลี้ยงปลากรายในกระชัง
ขนาด 1 x 1 x 1.20 เมตร เป็นเวลา 1 ปี เริ่มจากขนาดลูกปลา
60 กรัม อัตราการปล่อย 100 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร โดยใช้ปลาเป็ดบดเป็นอาหารในปริมาณ
7% ของน้ำหนักตัว พบว่าให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
และมีอัตราการแลกเนื้อประมาณ 14
สำหรับการเลี้ยงปลากรายของเกษตรกรที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ได้มีการเลี้ยงปลากรายขนาด 10 เซนติเมตร จำนวน 3,000 ตัวในบ่อดินขนาด
150 ตารางวา โดยใช้ระบบน้ำผ่านตลอดเวลา ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปลอยน้ำระดับโปรตีน
30 % ระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน พบว่าปลากรายมีน้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง
500 – 600 กรัม/ตัว
การเลี้ยงดู
จากลักษณะปากกว้าง
ฟันเป็นซี่ๆ ภายในปาก บอกให้รู้ถึงลักษณะการกินอาหาร ปลากรายกินสิ่งที่มีชีวิตเป็นอาหาร
เป็นต้นว่า ลูกกุ้ง ลูกปลา ตัวหนอน ตัวแมลงในน้ำ สำหรับลูกปลากรายตัวเล็กๆ
อาจเลี้ยงด้วย ไรน้ำ ลูกน้ำ ก็ได้ แต่ในขณะนี้ได้มีการฝึกเพื่อกินอาหารเม็ดลอยน้ำ
เพื่อความสะดวกในการเลี้ยง
พันธุ์ปลากราย
ขนาดต่างๆ ที่มีจำหน่าย
พันธุ์ปลากรายขนาดประมาณ
1 นิ้ว - 1 นิ้วครึ่ง
พันธุ์ปลากรายขนาดประมาณ
1 นิ้ว - 1 นิ้วครึ่ง
พันธุ์ปลากรายขนาดประมาณ
1 นิ้ว - 1 นิ้วครึ่ง
พันธุ์ปลากรายขนาดประมาณ
2 นิ้ว - 2 นิ้วครึ่ง
พันธุ์ปลากรายขนาดประมาณ
3 นิ้ว
|