บทความที่น่าสนใจ |
|
เทคนิคการลำเลียงขนย้ายลูกปลา
|
|
กลับมาเจออีกครั้งกับนักเขียนที่ชอบสรรหาเรื่องราวต่างๆมาพัฒนาต่อมสมองอย่างไรก็ตาม
ถ้าอ่านกันแล้วโดนใจคิดว่ามีสาระ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์
หวังว่าปีฉลู 2552 คงไม่เครียดกับเช่นปีที่ผ่านมากันนะครับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้วบ้านเมืองคาดว่าน่าจะสงบสุขลงมาบ้างอะไรที่ปล่อยวางได้ก็ปล่อยๆกันไปบ้างนะครับพี่น้องสังคมก็จะเกิดผลดีตามมา
เอาละครับ ช่วงของดีมีประโยชน์ในวันนี้ผมจะพาทุกท่านมาพบกับแวดวงสัตว์น้ำ
ซึ่งนับว่าสำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ขั้นตอนการลำเลียงขนย้ายลูกปลาซึ่งผมได้มีประสบการณ์ไปลำเลียงด้วยตัวเองบ้างหรือพร้อมทีมงานบ้าง
ทุกครั้งที่ลำเลียงมานั้นก็ได้ลุ้นกัน แทบทุกช็อตไม่ว่าระยะทางใกล้หรือใกลเริ่มตั้งแต่
จ.ตราด, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, พังงา และ
จ.กระบี่ เป็นต้น
ความประทับใจหลายๆแห่งที่ไปลำเลียงลูกปลามา ผู้หลักผู้ใหญ่ต่างต้อนรับกันด้วยดีตลอดโดยเฉพาะที่
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจ.กระบี่ ซึ่งเผอิญได้ไปลำเลียงลูกปลาค่อนข้างบ่อยที่สุดก็ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง
จ.กระบี่ ที่ท่านมีความเป็นกันเองคอยบริการและอำนวยความสะดวกรวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทางผมและคณะไม่มีอะไรตอบแทนนอกจากนำกิจกรรมที่
ศพช.กระบี่มาบอกเล่า ให้คนทั่วไปได้ทราบว่า เขามีอะไรดีๆที่น่าดูน่าชมกันบ้าง
ที่ได้ยกตัวอย่างศพช.กระบี่ เพราะว่าที่นี่เขาเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมกันฟรีๆ
เข้าทางใช่ไหมล่ะ ขึ้นชื่อว่าของฟรีเริ่มดีแฮ๊ะ แต่เดี๋ยวก่อนอย่านึกว่าของฟรีไม่มีค่าอะไร
คอนเฟิร์มของเค้าดีแถมมีคุณภาพ ไม่ว่าลูกพันธุ์ปลาการ์ตูนที่คอยเป็นพระเอกชูโรงเรียกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งเทศฝรั่งมังค่าทั่วทุกสารทิศมาเที่ยวชม
นอกจากนี้ยังมีปลาอีกมากมายหลายชนิด เช่น ปลากะรังจุดฟ้า,
ปลากะรังหน้างอน, ปลาช่อนทะเล และปลาหมอทะเล หากใครสนใจจะนำไปเพาะเลี้ยงเขาก็มีบริการจำหน่ายด้วยนะครับ
ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าศพช.กระบี่เขาศพช.กระบี่จ้างวานผมให้มาเขียน
เปล่าเลยไม่มีค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพราะผมถือว่าหากเป็นสิ่งที่ดี
และน่าสนใจมาบอกเล่าใครผ่านไปผ่านมาลองแวะไปเยี่ยมชมรับรองว่าท่านจะไม่ผิดหวัง
ก่อนการขนย้ายลูกปลาเราควรต้องเตรียมตัวอย่างไร
ต้องไม่ลืมว่าก่อนลงมือทำงานอะไรทุกครั้งหากคุณเตรียมตัวมาดีก็คว้าชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
เช่นเดียวกันการลำเลียงขนย้ายลูกปลาอุปกรณ์ที่จำเป็นในคราวต้องใช้ในการลำเลียง
ไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะ ภาชนะสำหรับใส่ลูกปลา, เครื่องมือให้ออกซิเจน,
น้ำที่ใช้ลำเลียง,และยาสลบเพื่อช่วยพักฟื้นในขณะการขนย้ายปลาต้องเตรียมให้พร้อม
การลำเลียงขนย้ายลูกปลาทั่วไปนิยมปฏิบัติ 2 รูปแบบ
1. การลำเลียงโดยภาชนะแบบเปิด วิธีการนี้เราใช้ภาชนะจำพวกพลาสติกหรือไฟเบอร์
แบบปิดฝาหรือเปิดฝาโดยสังเกตความเหมาะของสมขนาดปลาและควรต้องมีช่องเพื่อให้อ๊อกซิเจนหมุนเวียนเข้า
– ออกได้โดย ส่วนใหญ่ใช้ลำเลียงลูกปลาคราวละมากๆ เช่น
ลูกปลาขนาด 1-2 ซม. เราควรจะลำเลียง 3-5 ตัว/น้ำ 1 ลิตร
วิธีนี้เหมาะสมกับการขนส่งระยะทางไกลๆจุดประสงค์เพื่อที่จะนำลูกปลาไปเลี้ยงอนุบาล
หรือจำหน่ายลูกปลามีชีวิต
2. การลำเลียงโดยใส่ภาชนะแบบปิด ในปัจจุบันนิยมใช้ถุงพลาสติกค่อนข้างแพร่หลายข้อดีคือ
สะดวกในขณะลำเลียง โดยเติมน้ำแล้วอัดออกซิเจนลงไปในภาชนะก่อนปิดปากถุง
วิธีนี้เหมาะสมกับใช้ลำเลียงลูกปลาที่มีขนาดเล็กระยะทางไม่ไกลมากหรือบางครั้งแพ็คใส่กล่องโฟมขนส่งทางเครื่องบิน
โดยใช้ยาสลบเป็นตัวช่วยพักฟื้นในขณะเดินทาง ยกเว้นลูกปลามีขนาดใหญ่
ขนาด 2-3 ซม. ควรลำเลียงปลา 1-2 ตัว/น้ำ 1 ลิตร ใน การลำเลียงขนย้ายปลาขนาดเริ่มโตนั้นเราควรต้องใช้ถังไฟเบอร์หรือแบบโลหะมีฝาปิดเจาะรูไว้ด้วยเพื่อได้หย่อนสายออกซิเจนลงไปในภาชนะลำเลียง
เมื่อทุกอย่างพร้อมที่จะลำเลียงอาศัยว่ามีประสบการณ์มาด้วยตัวเองและเห็นตัวอย่างจากที่อื่นๆมาบ้าง
สิ่งเหล่านี้ต้องยึดถือปฏิบัติช่วงระหว่างในการลำเลียงลูกปลา
ถ้าแก้ไขเองได้ก็แก้ไข หากไม่แน่ใจเราก็ควรติดต่อสื่อสารกับผู้มีประสบการณ์
ปัจจัยด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและไม่ควรมองข้าม
- ก่อนการลำเลียงขนย้ายลูกปลาต้องงดอาหาร 24 ชม. ทั้งนี้ให้อาหารในกระเพาะอาหารถูกใช้จนหมดป้องกันลูกปลาจะขับถ่ายของเสียในขณะการลำเลียง
- ขนาดลูกสัตว์น้ำในขณะการลำเลียงต้องเลือกลูกปลาที่ขนาดใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันลูกปลาจะกัดกินกันเองในขณะลำเลียง
- ภาชนะที่ใช้ลำเลียงเราต้องทราบด้วยว่าปลาที่เราจะไปลำเลียงเหมาะสมกับภาชนะลำเลียงแบบใด
เช่น ลูกปลาหมอทะเลหรือลูกปลากะรังจุดฟ้า นิสัยจะตกใจและช๊อคตายโดยง่าย
ดังนั้น การลำเลียงช่วงขึ้นหรือลงในภาชนะขณะลำเลียงเราต้องระมัดระวังกันพิเศษ
- อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งเพราะว่าการลำเลียงลูกสัตว์น้ำหากเราควบคุมอุณหภูมิต่ำประมาณ15-23oC
จะช่วยให้ลูกปลามีอัตรารอดตายมากขึ้น รวมถึงช่วงเวลาลำเลียงลูกปลาควรเป็นตอนเช้ามืดหรือช่วงเวลากลางคืน
- เครื่องให้อากาศเป็นสิ่งที่สำคัญที่ขาดเสียมิได้ ดังนั้น
การลำเลียงพันธุ์ปลาแบบเปิดเราควรนำปั๊มไปสำรองไว้ เพื่อป้องกันหากเครื่องเสียจะได้สับเปลี่ยนได้ทันเวลา
- สัตว์น้ำบางชนิดก่อนการลำเลียงเราอาจใช้จำพวก ยาเหลือง,
เกลือ, ยาสลบ หรือด่างทับทิม เพื่อทำลายเชื้อโรคและแบคทีเรียที่มักจะเกาะมาอยู่ที่ตัวสัตว์น้ำ
ในขณะการลำเลียงเราต้องหมั่นคอยตรวจเช็คแอร์ปั๊ม ท่อลม,
สายยางแอร์ปั๊มข้อต่อหรือ หัวทรายว่าปกติดีพอหรือไม่บางครั้งอาจหลวมหรือหลุดในขณะการเดินทาง
สามารถแก้ไขได้โดยทันท่วงที
เพราะว่าจากประสบการณ์การลำเลียงลูกพันธุ์ปลากะรังจุดฟ้ามาจาก
จ.ตราด (ขนาด 1-2 ซม.) มายังสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
จ.สงขลา ต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 22-24 ชม. ซึ่งทราบมาก่อนว่า
การลำเลียงลูกปลากะรังจุดฟ้าจากหน่วยงานที่อื่นนั้น เมื่อลำเลียงไปเพียง
2-3 ชม. ลูกปลาจะช็อคตาย 30-40% แต่ปรากฏว่า การลำเลียงลูกปลาของเรามาจาก
จ.ตราด ในครั้งนี้ลูกปลาที่ลำเลียงตายประมาณ 10% ซึ่ง
ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจกับการลำเลียงลูกปลากระรังจุดฟ้าที่ขึ้นชื่อว่าตกใจและช็อคตายง่ายถ้ามีการลำเลียงขนส่งระยะทางไกล
การลำเลียงขนย้ายลูกปลาที่มีชีวิตไม่ว่าเราจะลำเลียงระบบเปิดหรือระบบปิด
นับว่าสำคัญและเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากันดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการลำเลียงแทบทุกด้านต้องพร้อมใช้งานได้สิ่งกระผมกล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการลำเลียงลูกปลา
เราซึ่งเปรียบเป็นหมอหรือพยาบาลในขณะนั้นจึงต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่องานได้รับมอบหมาย
ประการสำคัญลูกปลายังมีชีวิตพร้อมท้าทายจะเป็นหรือตายขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแลของเราเอง
เมื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงๆแล้วผมเชื่อว่าคุณพร้อมจะเป็นมืออาชีพได้หรือไม่คำตอบจะบอกได้ในตัวของมันเอง
ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆหากคิดว่าเราได้ทำเต็มที่และสุดความสามารถทุกอย่าง
เริ่มลงมือปฏิบัติเชื่อว่าความสำเร็จจะตามมา
|
|
|