บทความที่น่าสนใจ |
|
ชีววิทยาและการผสมพันธุ์ปลาเสือตอ
|
ชื่อไทย ปลาเสือตอ , ปลาลาด
ชื่อสามัญ SIAM TIGER FISH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Datnioides microlepis Bleeker
ชีววิทยา
ปลาเสือตอมีลำตัวเล็ก แบนข้างและโค้งนูน ส่วนที่เป็นหน้าผากยาวลาด
ปากกว้างยืดหดได้ ( สามารถยืดปากออกไปฮุบเหยื่อโดยตัวเองไม่ต้องเคลื่อนไหว
) ตาค่อนข้างโต เกล็ดเล็ก มีลักษณะแบบปลายมีหนาม เส้นข้างตัวสมบูรณ์
โดยเฉพาะบริเวณเหนือครีบอก และจะลาดลงไปสุดที่กึ่งกลางคอคอดหาง
มีจำนวนเกล็ดข้างลำตัวประมาณ 105-106 เกล็ด ครีบหลังยาวแบ่งออกเป็น
2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนามแข็ง 12 อัน ส่วนหลังเป็นก้านครีบอ่อน
ครีบล่างส่วนแรกเป็นหนามแข็งขนาดใหญ่ลดหลั่นกัน 2 อัน
ส่วนหลังเป็นก้านครีบอ่อน เป็นแผ่นใสขอบกลม หางเป็นรูปมน
ลำตัว มีเกล็ดขนาดเล็กรอบเกล็ดมีหนาม มีครีบออกชมพู และสีเหลือง
ปลาเสือตอแยกได้ 2 ลาย เป็นปลาเสือตอลายคู่ มีเส้นกลางเด่นชัด
3 เส้น รวมเส้นดำทั้งตัวมี 7 เส้น ส่วนปลาเสือตอลายใหญ่
มีเส้นกลางเด่นชัด 2 เส้น รวมเส้นดำทั้งตัวมี 6 เส้นขนาดความยาวเมื่อโตเต็มที่มีความยาว
24 นิ้ว (ปลาเสือตอที่อาศัยในแม่น้ำโขงจะแตกต่างจากพันธุ์บึงบอระเพ็ดตรงที่ลำตัวมีสีขาวเงิน
และลายขวางของลำตัวจะแคบกว่าพันธุ์ของบึงบอระเพ็ด ) ปลาเสือตออาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
และมีน้ำค่อนข้างลึกประมาณ 2-6 เมตร และบริเวณที่มีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นอยู่
จะไม่ค่อยชอบบริเวณที่มีแสงสว่าง จะหลบอยู่ตามมุมมืดคอยซุ่มจับเหยื่อเป็นอาหาร
และจะกินแต่สัตว์ที่เคลื่อนไหวเท่านั้น ปลาเสือตอขนาดใหญ่ชอบกินอาหารพวกกุ้งฝอย
ปลาขนาดเล็กและแมลงน้ำ ส่วนลูกปลาเสือตอชอบกินแพลงค์ตอนสัตว์
จำพวก ดาฟเนียร์, โรติเฟอร์ และลูกกุ้งวัยอ่อน
การผสมพันธุ์
การผสมพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ ในวันที่อากาศครึ้ม ปลาเสือตอจะเริ่มผสมพันธุ์ตอนค่ำ
ปลาเพศผู้และเพศเมียจะเคล้าเคลียและรัดกัน ปลาเพศเมียจะปล่อยไข่สีเหลืองออกมา
และปลาเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อสีขาวขุ่นผสมกับไข่ ไข่จะลอยเนื่องจากมีน้ำมันผสมอยู่
แม่ปลาหนัก300-500 กรัม จะวางไข่ประมาณ 20,000-50,000
ฟอง อัตราการฟักประมาณร้อยละ 90 ไข่ที่ได้รับการผสมจะมีสีเหลืองใส
รูปร่างลักษณะกลม และมีน้ำหนักมากกว่าไข่ที่ไม่ได้รับการผสม
โดยจะลอยปริ่มน้ำ ไข่จะฟักเป็นตัวประมาณ 15-17 ชั่วโมง
ที่อุณหภูมิของน้ำประมาณ 28 องศาเซลเซียล ลูกปลาที่ฟักเป็นตัวออกมาใหม่ๆ
จะหงายท้องเอาส่วนของถุงอาหารขึ้น ถุงไข่แดงจะยุบภายใน
2-3 วัน และมีการเจริญเติบโต จนเป็นลูกปลาที่สมบูรณ์ในเวลา
30 วัน
เราสามารถเลี้ยงปลาเสือตอให้มีไข่แก่ และมีน้ำเชื้อที่สมบูรณ์ในบ่อซีเมนต์ได้
และสามารถปล่อยพ่อแม่ปลาเสือตอให้ทำการผสมพันธุ์วางไข่กันเองตามธรรมชาติในบ่อซีเมนต์ได้
ปลาเสือตอเพศผู้จะเริ่มมีน้ำเชื้อในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
ส่วนในปลาเพศเมียจะพบว่าส่วนท้องมีการขยายตัวออกทางด้านข้างเล็กน้อย
และที่บริเวณช่องเปิดเพศขยายตัวเล็กน้อย ส่วนลักษณะความแตกต่างระหว่างเพศของปลาเสือตอนั้น
สังเกตจากลักษณะภายนอกได้ยากมาก พอมีแนวสังเกตได้บ้างคือ
ในปลาที่มีอายุเท่ากันนั้น ส่วนใหญ่ปลาเพศเมียมักจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้
นอกจากนี้อาจจะสังเกตจากความยาวของส่วนปลายของครีบห้อง
(Pelvic fin ) แต่ก็มักจะไม่ค่อยแน่นอนมากนัก
โรคและปัญหาของปลาเสือตอ
โรคของปลาเสือตอมักเกิดจากปรสิตที่ติดมากับปลาเสือตอในธรรมชาติอยู่เป็นประจำคือ
โรคฝีตามตัว
ลักษณะเป็นตุ่มตามตัวหรือตุ่มทวาร ขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นตุ่มบวมปูดออกมาจากผิวหนัง
วิธีการรักษา
ให้แยกปลาที่มีอาการป่วยออกมาใส่ตู้พยาบาลที่มีระบบกรองน้ำและให้อากาศค่อนข้างแรง
ขังงดอาหาร
ไว้สัก 2-3 วัน แล้วใช้ยาปฏิชีวนะของคนกินผสมน้ำ 1 ช้อนโต๊ะต่อ
1 แคปซูล แล้วราดลงบนตัวกุ้งฝอยเป็นๆที่กรองแห้งไว้แล้ว
ให้ปลากิน 7 วันครั้ง ประมาณ 2-3 ครั้ง
โรคอิ๊ก หรือ จุดขาว
เกิดจากเชื้ออิ๊ก
วิธีการรักษา
ใช้ยาซุปเปอร์อิ๊กที่มีขายตามร้านขายปลาทั่วไปแช่ปลาตามอัตราส่วนที่กำหนด
โรคครีบเปื่อย หางเปื่อย ตาฝ้าขาว
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ครีบหางเปื่อยหลุดหายไป
บางทีก็เป็นเชื้อราขึ้นตามบาดแผลเหล่านั้นเป็นสีขาว
วิธีการรักษา
รักษาโดยใช้ยาเหลือง (อะคริฟลาวิน ACRIFLAVINE) ชนิดผง
1 ช้อนชา และละลายน้ำ 1 ลิตร เก็บ
ขวดยาไว้ในขวดสีน้ำตาลกันแสง เวลาใช้ตวงน้ำยาเหลืองประมาณ
1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 5 ลิตร แช่ปลาจนกว่าจะหาย ซึ่งอาจต้องใช้เวลา
3-7 วัน และต้องเปลี่ยนน้ำทุกวันและเติมน้ำยาในอัตราส่วนเดิม
ปลาเสือตอ ที่มีสีคล้ำ เป็นลักษณะแสดงความไม่สมบูรณ์และเจ็บป่วย
เพราะสีของปลาเสือตอจะแสดงถึงความสมบูรณ์และอารมณ์ ปลาเสือตอที่ตกใจหรือป่วย
ลำตัวจะออกสีดำ ครีบจะหุบ ส่วนปลาที่ปกติครีบจะกางออกสีเหลืองสดใส
ลายดำชัดเจน ครีบกางตั้ง ทั้งปลาขนาดเล็กและปลาขนาดใหญ่
ตลาดและราคาปลาเสือตอ
ปลาเสือตอกับราคาซื้อขายไม่มีอะไรเป็นตัวกำหนด ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้เลี้ยงว่าเทใจกับปลามากน้อยแค่ไหน
แต่ปลาเสือตอลายเล็กจะไม่ค่อยมีผลทางเศรษฐกิจ เพราะว่าราคาซื้อขายตามท้องตลาดถูก
ราคาซื้อขายในตลาดปลาสวยงาม เสือตอลายเล็กของภาคอีสานมีราคาไม่แพงขนาดเล็ก
2 นิ้วฟุต ตัวละ 20-50 บาท ส่วนปลาเสือตอที่นิยมและมีราคาสูงที่สุดในปัจจุบัน
คือปลาเสือตอลายคู่ (ลาย 7 ขีด)และปลาเสือตอลายใหญ่ แต่ปลาเสือตอลายคู่ราคาจะสูงกว่าปลาเสือตอลายใหญ่เกือบ
3 เท่าตัว ทั้งที่ในระยะ 10 ปีที่แล้วปลาเสือตอลายคู่ถูกจัดเป็นปลาคัดทิ้ง
ไม่มีราคา แต่พอระยะเวลาผ่านมาหลายสิบปีปลาเสือตอลายคู่กลับกลายเป็นปลาที่อยู่ในความนิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทุกวันนี้ปลาเสือตอทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องนำเข้าจากประเทศเขมร
จัดส่งเข้ามาสัปดาห์ละหลายคันรถ ซึ่งปลาเสือตอเหล่านี้เป็นปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ
คือ ทะเลสาบในประเทศเขมร โดยมีพ่อค้าคนกลางจะเป็นคนรวบรวมปลาเสือตอทุกขนาดลำเลี้ยงเข้ามาในประเทศไทยเพื่อส่งขายต่อไปยังต่างประเทศทั่วโลกเป็นสินค้าประเภทปลาสวยงาม
นิ้วละประมาณ 60-100 บาท และตัวกำหนดราคาอีกอย่างคือลักษณะรูปร่าง
สีสัน และขนาด สีเหลืองตัดสีดำที่ลำตัวอย่าง ชัดเจนของปลา
เอกสารอ้างอิง
จี้เส็ง แซ่จิว. 2541. ปลาสวยงาม : ปลาเสือตอ ปลาที่ตลาดต้องการ.
เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 10 ฉบับที่ 190. หน้า 82-83.
นิด ชากังราว.2541.ปลาสวยงาม : บึงบอระเพ็ดรอวันกลับมาของ"ปลาเสือตอ"
ปลาน้ำจืดที่หายสาบสูญ.เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 10 ฉบับที่
187 . หน้า 80.
ปรีชา ลิ่มไชยฤกษ์. 2541. แวะดูงานเลี้ยงปลาเสือตอที่สามโคก
ปทุมธานี. เทคโนโลยีการประมง ปีที่ 11 ฉบับที่ 200. หน้า
73-74.
ไม่มีชื่อผู้แต่ง. 2535. ปลาเสือตอ ( Siamese Tiger Fish
). ประมงเศรษฐกิจ ปีที่ 1 ฉบับที่ 4. หน้า 67-68.
ยงยุทธ ทักษิณ , เกียรติคุณ เจริญสวรรค์ และกำธน สุอรุณ.
2531. การพัฒนาการอนุบาลลูกปลาเสือตอวัยอ่อน. รายงานประจำปี
2531. 105 หน้า.
ศุภชัย นิลวานิช. 2544. ปลาสวยงาม: ไปดูการเลี้ยงปลาเสือตอลายใหญ่
เพื่อไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ชัยนาท.เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่
14 ฉบับที่ 274. ห้า 105.
สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง , นาวิน มหาวงศ์. 2536. การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอแบบธรรมชาติ.
วารสารการประมง ปีที่ 46 ฉบับที่ 6. หน้า 495-500.
ที่มา sangputsorn.com
|
|